หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แก้ปัญหาพิพาทพระวิหารในเชิงภูมิศาสตร์การเมือง


“แก้ปัญหาพิพาทพระวิหารในเชิงภูมิศาสตร์การเมือง” โดย ดร. อนุชิต วงศาโรจน์ ตอนที่ 1


ในทางภูมิศาสตร์ ได้จัดเรื่องปัญหาเขตแดนระหว่างประเทศเป็นประเด็นหนึ่งในสาขาภูมิศาสตร์การเมือง สำหรับพื้นทีพิพาทหรือพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร บนเขาพระวิหารนั้น เกิดขึ้นจาก “แผนที่ระวาง DANGREK” ซึ่งกัมพูชาใช้เป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้เราแพ้คดีนั้น เป็นการลากแนวสันปันน้ำคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ซึ่งจำแนกที่มาของความคลาดเคลื่อนได้เป็นหัวข้อดังนี้ 1) ตัวลำห้วยที่ชื่อ “โอ-ตาเซ็ม (O. Tasem)” ฝรั่งเศสเขียนแนวลำห้วยนี้ยาวเกินความเป็นจริง จึงส่งผลให้แนวสันปันน้ำซึ่งใช้เป็นเส้นเขตแดนเบี่ยงเบนไปด้วย 2) เส้นเขตแดนที่เบี่ยงเบนไปดังกล่าว ทำให้ปราสาทเขาพระวิหารถูกกันเข้าไปในเขตกัมพูชา 3) เส้นเขตแดนที่เบี่ยงเบนไปนี้เอง เป็นที่มาของพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลมตร เพราะไปเหลื่อมล้ำกันกับแนวเขตแดนของไทยซึ่งลากไปตามแนวสันปันน้ำที่แท้จริงบนแผนที่ 1:50,000
เพราะเหตุใดตรงบริเวณเขาพระวิหาร ไทยเราจึงไม่ใช้แนวเขตแดนตามแผนที่ระวาง”DANGREK” ซึ่งคำตอบมีอยู่ 5 ประการหลัก คือ... 1) ในปี ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) ศาลโลกตัดสินด้วยมติ 9 ต่อ 3 ให้เรายอมรับว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตของกัมพูชา เราก็ได้ปฏิบัติตามคำตัดสินนั้นแล้ว โดยคณะรัฐมนตรี ได้มีมติในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ให้ลากเส้นกันเฉพาะตัวปราสาทให้อยู่ในเขตกัมพูชา
2) การลากเส้นดังกล่าวในข้อ 1 ทำโดยลากแนวเขตตรงบันไดที่เรียกรวมว่าบันไดนาค ลากขึ้นไปในแนวทิศเหนือเป็นระยะ 20 เมตร จากนั้นลากเส้นตั้งฉากกับกึ่งกลางแนวบันไดเป็นระยะ 100 เมตร แล้วลากต่อไปทางทิศใต้จนถึงขอบหน้าผา ณ จุดที่ใกล้กับ “เป้ยตาดี” แล้วลากเส้นโค้งไปจนสุดขอบหน้าผาตรงจุดที่เรียกว่า “บันไดหัก” เป็นอันเสร็จสิ้นการลากเส้นกันตัวปราสาทพระวิหาร 3) สำหรับพื้นที่ส่วนอื่น เราลากเส้นเขตแดนไปตามสันปันน้ำที่แท้จริง ตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1904 (พ.ศ. 2447) ซึ่งแผนที่มาตราส่วน 1: 50,000 ของเรานั้นมีความละเอียดถูกต้องสูงกว่ามาก และเป็นที่ยอมรับในเชิงเทคนิควิธีการ เพราะเป็นการทำขึ้นมาจากรูปถ่ายทางอากาศ (Photogrammetry) 4) หลังจากเราลากเส้นเขตแดนเช่นนี้แล้ว เราก็ได้ปฏิบัติตามมติศาลโลก คือถอนทหารออกมาด้วย อีกทั้งเราได้ทำแนวลวดหนามแสดงแนวเขตไว้ด้วย โดยข้อสำคัญก็คือ “กัมพูชาได้ส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและฝ่ายทหารของตนเข้ามาตรวจสอบ ได้พบแนวลวดหนามดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้มีการทักท้วงแต่อย่างใด” ที่เห็นอย่างชัดเจนก็คือ “ทหารฝ่ายกัมพูชาไม่เคยล่วงละเมิดแนวลวดหนามนี้เลย
....ภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นมาร่วม 46 ปีแล้ว หากใช้คำว่านิ่งเฉย ไม่ทักท้วงคือยอมรับตามแนวคิดกฏหมายปิดปาก...กัมพูชาก็หลีกไม่พ้นกฏเกณฑ์นี้ด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้เราจึงเชื่อมั่นว่า พื้นที่ซ้อนทับ 4.6 ตารางกิโลเมตร สมควรที่จะเป็นของเรา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น